บันทึกอนุทิน
วิชา การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ (EAED2209)
อาจารย์ผู้สอน อาจารย์ตฤณ แจ่มถิน
เวลาเข้าสอน 12.20 น. เวลาเข้าเรียน 12.20 น. เวลาเลิกเรียน 15.00 น.
ความรู้ที่ได้รับ สรุปเป็น Mind Map ดังนี้
- ความรู้เพิ่มเติม โรคลมชัก คืออะไร
โรคลมชัก (epilepsy) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมองบริเวณผิวสมอง กล่าวคือ หากกระแสไฟฟ้าในสมองเกิดการลัดวงจรหรือเกิดความผิดปกติบางอย่างขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทตามมาจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ อย่างเช่น ถ้าเซลล์สมองเกิดความผิดปกติบริเวณส่วนของการควบคุมกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการชักเกร็งกระตุกเหมือนถูกไฟฟ้าช็อต ชักแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือบางคนอาจมีอาการเกิดขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาจหมดสติหรือไม่หมดสติก็ได้ แต่บางคนก็อาจมีพฤติกรรมนิ่ง เหม่อลอย
โรคลมชัก พบบ่อยแค่ไหน
จากสถิติพบว่าโรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย ประมาณ 70 ใน 1,000 คน สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ในประเทศไทยขณะนี้มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษาตัวในโรงพยาบาลสังกัดสาธารณสุขกว่า 6 หมื่นราย
อย่างไรก็ตาม อาการชักมักเกิดได้ง่ายกับเด็กเล็กที่อยู่ในวัย 6 เดือนถึงราว ๆ 4-6 ขวบ หรือผู้สูงอายุที่สมองเริ่มเสื่อมลง ซึ่งอาจเกิดจากการมีไข้สูง เกลือแร่ในร่างกายแปรปรวน การได้รับยากระตุ้นสมองบางชนิด หรือการถูกกระตุ้นด้วยแสงแวบ ๆ เป็นเวลานานพอ
สาเหตุของโรคลมชัก
ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคลมชักได้อย่างชัดเจน ว่าเหตุใดสมองจึงเสียความสมดุลจนปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างผิดปกติออกมา แต่พอวิเคราะห์หาสาเหตุบางส่วนที่อาจเกี่ยวข้องได้ ดังนี้
1. เกิดจากกรรมพันธุ์ โดยจากการซักประวัติครอบครัวของผู้ป่วยส่วนหนึ่งพบว่า มีญาติพี่น้องที่ป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน
2. เกิดจากการที่สมองเคยได้รับอันตรายมาก่อน เช่น มีการติดเชื้อในสมอง ภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง การติดเชื้อของระบบประสาท ความผิดปกติทางสมองมาตั้งแต่กำเนิด หรือสมัยเด็กเคยมีไข้สูงจนชักนาน และชักติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักจากสาเหตุเหล่านี้ อาจจะมีพัฒนาการด้านร่างกายและสมองผิดปกติร่วมด้วย
3. เกิดจากภาวะมีก้อนในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง พยาธิในสมอง
4. โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ แตกหรือตีบตัน
5. โรคทางกาย เช่น ภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายสูงหรือต่ำ น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ แคลเซียมในเลือดต่ำ รวมถึงโรคตับโรคไต
6. การดื่มเหล้ามากเกินไปจนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง การเสพยาเสพติดเกินขนาด หรือได้รับสารพิษจากการใช้ยาบางชนิดเกินขนาด เป็นต้น
อาการของโรคลมชัก
จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า โรคลมชักมีความหลากหลายทางอาการมาก ขึ้นอยู่กับว่าภาวะผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองไปผิดปกติในสมองส่วนใดและรุนแรงแค่ไหน เช่น
หากกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นรบกวนสมองเป็นบางส่วน จะทำให้เกิดอาการชักกระตุกหรือเกร็งเฉพาะที่ในขณะที่ยังรู้ตัวอยู่ ซึ่งคนกลุ่มนี้หากตรวจภาพของสมองด้วยคอมพิวเตอร์แล้ว มีโอกาสสูงที่จะพบเนื้องอกในสมอง หรืออาจมีอาการหลอดเลือดผิดปกติในสมองมาตั้งแต่กำเนิด
หากเซลล์สมองเกิดความผิดปกติบริเวณส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว และไปรบกวนสมองทั่วไปในวงกว้าง ไม่รู้ว่าจุดที่ปล่อยไฟฟ้าออกมารบกวนเริ่มที่จุดใด จะทำให้ผู้ป่วยชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว หมดสติ หรือชักแบบแน่นิ่งแบบที่พบได้บ่อยในเด็ก ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวขณะชัก อีกทั้งยังจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วย อาการนี้จะเรียกว่า "ลมบ้าหมู" บางคนอาจมีอาการตาค้าง ตาเหลือก น้ำลายฟูมปาก ล้มลงกับพื้น ขากรรไกรแข็ง กัดริมฝีปากกัดลิ้นตัวเองจนเลือดออก มีอาการปัสสาวะหรืออุจจาระราดร่วมด้วย บางคนอาจเป็นอยู่ 1-3 นาที แต่บางคนอาจเป็นนานถึง 15 นาที
หากเซลล์สมองเกิดความผิดปกติบริเวณส่วนที่ควบคุมการมองเห็น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเห็นแสงจ้าในขณะที่มีอาการชัก
หากเซลล์สมองเกิดความผิดปกติบริเวณสมองส่วนควบคุมจิตใจ จะทำให้มีอาการทางจิตใจที่ผิดปกติไป เช่น เกิดภาพในอดีตวิ่งผ่านสมองเข้ามา เกิดความรู้สึกเดจาวู เหมือนคุ้นเคยแต่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยไป หรืออาจจำคนรู้จักไม่ได้ รู้สึกเหมือนคนแปลกหน้า
ในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเหม่อลอย หมดสติ ทำอะไรไม่รู้ตัว อย่างนี้เรียกว่า อาการชักแบบเหม่อ
ผู้ป่วยบางรายมีอาการคล้ายคนไข้จิตเวช เช่น อยู่ ๆ ก็หัวเราะขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ อาการเช่นนี้แสดงว่าเป็นลมชักแบบพิเศษ ที่เรียกว่า Gelastic Epilepsy เกิดจากสมองส่วนไฮโปทารามัส
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น ไปขโมยของโดยไม่รู้ตัว มีอาการงง ๆ เบลอ ๆ บางคนพูดอยู่ดี ๆ ก็นิ่งค้างไปเฉย ๆ สักพักแล้วถึงกลับมาพูดต่อได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งการที่แพทย์จะวินิจฉัยได้นั้นต้องอาศัยการซักประวัติจากญาติผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายคนไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคลมชัก เพราะบางคนมีภาวะวูบ เหม่อลอย จำอะไรไม่ได้เกิดขึ้นแค่ไม่กี่วินาที จึงไม่ทันสังเกต สำหรับอาการวูบนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะวูบไปแล้วจำอะไรไม่ได้ แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่วูบแล้วแต่ยังจำเหตุการณ์ได้ จึงไม่คิดว่าตัวเองป่วย กว่าจะรู้ตัวว่าป่วยก็มีอาการแสดงออกมามากแล้ว
นอกจากนี้ ในบางรายจะมีอาการเตือนขึ้นมาก่อนหมดสติ เช่น เกิดออรา เห็นแสงวาบ แขนขาชากระตุก ได้กลิ่นแปลก ๆ เช่น กลิ่นยางไหม้ กลิ่นน้ำหอม หรือได้ยินเสียงดัง ๆ ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง หรือกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ฯลฯ
โรคลมชักอันตรายไหม
ถือว่าอันตรายอยู่เหมือนกันถ้าผู้ป่วยมีอาการชักอยู่เรื่อย ๆ เพราะการที่กระแสไฟฟ้าในสมองถูกกระตุ้นมากเกินไปจะไปกระตุ้นทำให้เกิดการหลั่งสารทำลายเซลล์สมอง อาจทำให้เซลล์สมองตายได้ หรือไปกระทบประสิทธิภาพความจำ และสมองส่วนอื่น ๆ ด้วย หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่รักษา ผู้ป่วยอาจเกิดอาการผิดปกติจนไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้เลย
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการชักแล้วกัดลิ้นตัวเองหรือสำลักก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ รวมทั้งหากเกิดอาการชักขณะขับรถ ว่ายน้ำ พายเรือ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เสี่ยงอันตรายอยู่ ก็อาจประสบอุบัติเหตุได้เช่นกัน
เมื่อไรควรไปหาหมอ
คนไข้ทุกรายที่มีอาการชักครั้งแรก ควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อค้นหาสาเหตุ และควรไปหาแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้
1. ชักนานเกิน 15 นาที หรือชักซ้ำ ๆ ติดต่อกันหลายครั้ง
2. มีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีไข้สูง หรือแขนขาเป็นอัมพาตร่วมด้วย
สำหรับคนที่เป็นโรคลมชักที่กินยาเป็นประจำ ถ้าหากมีอาการชักกำเริบอีก เมื่อหายชักแล้วควรกลับไปหาแพทย์ประจำเพื่อปรึกษาการปรับใช้ยาให้เหมาะสม และควรเรียนรู้วิธีปรับยาเองเมื่อจำเป็น
การวินิจฉัยโรคลมชัก
ต้องบอกให้เข้าใจว่า อาการโรคลมชักในบางคนอาจมีลักษณะคล้ายอาการทางจิตเวช ทำให้บางคนคิดว่าตัวเองเกิดภาพหลอนมากกว่าคิดว่าตัวเองป่วยด้วยโรคลมชัก เช่น ผู้ป่วยบางคนก่อนมีอาการนิ่งเหม่อลอย ได้เห็นภาพของผู้หญิงที่ไม่มีตัวตนปรากฏออกมา หรือบางคนเห็นภาพหมุน ภาพเคลื่อนไหวเร็วกว่าปกติ เห็นแสงจ้า เห็นภาพหลอน หูแว่ว จนคิดว่าตัวเองมีอาการทางจิต แต่แพทย์จะซักประวัติ อาการที่เกิดขึ้น ตรวจร่างกายก่อนจะตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ซึ่งจะบอกได้ว่า อาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการทางจิตหรือโรคลมชักกันแน่
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การวินิจฉัยอี่น ๆ ซึ่งอาจมีความจำเป็น เช่น การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กสมอง การตรวจคลื่นสมองพร้อมวิดีโอ 24 ชั่วโมง การตรวจสมองโดยใช้สารกัมมันตรังสี เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพในสมอง ฯลฯ ถ้าสงสัยมีการติดเชื้อในสมอง (เช่นมีไข้สูงร่วมด้วย) แพทย์อาจทำการเจาะหลัง เพื่อตรวจน้ำไขสันหลัง
วิธีรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก
โรคลมชักสามารถรักษาให้หายได้ ด้วยหลากหลายวิธี คือ
1. การใช้ยา เป็นการรักษาหลักที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชักในเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อช่วยปรับกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในสมองให้กลับมาเป็นปกติ แพทย์จะเป็นผู้เลือกชนิดและขนาดยาที่เหมาะสมกับอาการชักของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งจะใช้เวลาในการทานยาประมาณ 2-5 ปี จนกว่าจะไม่มีอาการชัก แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ลดขนาดยาลงจนกระทั่งหยุดยาได้ โดยที่ผู้ป่วย 60-70% สามารถหายขาดจากโรคลมชักด้วยยา ขณะที่มีผู้ป่วยราว 20-30% สามารถกลับมาชักได้ใหม่ ก็จำเป็นต้องกินยากันชักต่อไปตลอดชีวิต
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่กินยากันชักต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่าหยุดยาเอง ยากินยาชนิดอื่นร่วมกับยากันชักโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะยาบางชนิดอาจไปต้านหรือเสริมฤทธิ์ยากันชัก ทำให้เกิดพิษขึ้นได้ และต้องหมั่นสังเกตอาการข้างเคียงที่เกิดจากการกินยากันชักด้วย
2. การใช้ไฟฟ้ากระตุ้น เป็นวิธีการรักษาที่ใช้ในต่างประเทศ และนิยมทำในผู้ป่วยเด็กโรคลมชักที่ดื้อต่อยา และไม่สามารถจะรักษาโดยการผ่าตัดได้ วิธีการโดยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเข้าไปในร่างกาย และกระตุ้นผ่านเส้นประสาทบริเวณคอ
3. การควบคุมอาหารเพื่อรักษาโรคลมชักในเด็ก เป็นการรักษาทางโภชนบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีระดับ ketone ในร่างกายสูง ลักษณะอาหารจะมีไขมันค่อนข้างสูงและมีโปรตีนต่ำ วิธีการนี้จึงเหมาะสมกับเด็ก เนื่องจากพ่อแม่สามารถควบคุมเรื่องอาหารและตรวจปัสสาวะได้ตลอดเวลา โดยจะทำให้มีสาร ketone และสารดังกล่าวจะใช้ได้ผลในผู้ป่วยเด็กที่มีความผิดปกติทางสมอง ซึ่งมีอาการชักค่อนข้างรุนแรง จะทำให้อาการชักดีขึ้นประมาณ 60-70% และจะพบคนไข้ที่ไม่มีอาการชักเลยในระหว่างที่มีการให้อาหารชนิดนี้ประมาณ 30% สำหรับโรคลมชักในผู้ใหญ่จะไม่นิยมวิธี ketogenic diet เนื่องจากอาหารประเภทนี้มีไขมันค่อนข้างสูง
4. การผ่าตัด ในผู้ป่วยที่ดื้อยาหรือมีพยาธิสภาพในสมองที่ชัดเจน แพทย์พิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดสมอง โดยจะวิเคราะห์ผู้ป่วยอย่างละเอียดจากทีมสหสาขา และกระบวนการตรวจที่ทันสมัยพร้อมเทคนิคใหม่ ๆ ทำให้โอกาสที่ผู้ป่วยจะหายจากชักสูงมาก โดยที่ไม่มีผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ในรายที่การรักษาทางยาไม่ได้ผลหรือผ่าตัดรักษาไม่ได้ ก็อาจจะใช้วิธีการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า
ผู้ป่วยโรคลมชักดูแลตัวเองอย่างไรดี
กินยากันชักให้สม่ำเสมอ อย่าหยุดยา เปลี่ยนแปลงขนาดยา หรือซื้อยากินเอง แม้คิดว่าอาการดีขึ้นแล้ว เพราะโรคอาจจะยังไม่หาย อาจทำให้เกิดอาการชักอีกได้ ต้องให้แพทย์สั่งเท่านั้น
ไปพบแพทย์ตามนัด ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์บ่อย ๆ เพราะจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง แต่หากจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่รักษา ควรนำยาที่กินอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย
ไม่ควรกินยาขนานอื่น ๆ ร่วมกับยากันชักโดยมิได้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีผลต่อประสิทธิภาพของยา ทั้งในด้านหักล้างทำให้คุมชักไม่ได้ หรือเสริมฤทธิ์กัน จนเกิดเป็นพิษขึ้นได้
หากมีไข้สูงต้องรีบทานยาลดไข้และเช็ดตัวให้ไข้ลดลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการชัก
หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชัก เช่น การอดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ อารมณ์เครียด ออกกำลังจนเหนื่อยเกินไป อาการท้องผูก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเข้าไปในที่ ๆ มีเสียงดังอึกทึก มีแสงจ้า
หลีกเลี่ยงการทำงานที่เสี่ยงอันตราย เช่น งานบนที่สูง ใกล้น้ำ ของร้อน เตาไฟ บนผิวจราจร หรือเดินบนถนนตามลำพัง
ไม่ควรขับรถ เพราะหากอาการกำเริบขึ้นมาอาจทำอันตรายต่อผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายห้ามคนเป็นโรคลมชักขับรถ
ควรแจ้งให้เพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนนักเรียนทราบถึงโรคที่เป็นด้วย เพื่อที่หากเกิดอาการชักขึ้นคนใกล้ชิดจะได้ช่วยเหลือได้
ทำอย่างไรเมื่อเจอผู้ป่วยลมชัก
หากเจอผู้ป่วยลมชักก็ไม่ต้องตกใจ ให้ปฐมพยาบาลผู้ป่วยดังนี้
1. นำตัวผู้ป่วยไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย
2. ปลดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้หลวม หากใส่แว่นให้ถอดออก หากหมอนหรือสิ่งของนุ่ม ๆ มาหนุนศีรษะ
3. คอยจับศีรษะและแขนขา อย่าให้กระแทกพื้นหรือกำแพง
4. จับผู้ป่วยนอนตะแคงไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง ระวังมิให้เศษอาหาร เสมหะ น้ำลาย หรือเลือดที่อาจไหลอยู่ในปากสำลักเข้าไปในปอด
5. ถ้าผู้ป่วยใส่ฟันปลอม ควรถอดฟันปลอมออกถ้าทำได้
6. อย่าให้คนมุงดู เพราะอาจทำให้ขาดอากาศหายใจ
7. ห้ามใช้มือหรือนิ้วล้วงคอ หรือง้างปากคนไข้ เพราะอาจถูกคนไข้กัดนิ้วขาดได้
8. ไม่จำเป็นต้องทำการเป่าปาก นวดหัวใจ
9. ไม่จำเป็นต้องใช้ช้อน ด้ามไม้ ดินสอ ปากกา หรือวัตถุใด ๆ สอดใส่ปากคนไข้ เพื่อป้องกันมิให้กัดลิ้น (ดังที่เคยแนะนำ) นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังอาจทำให้ปากและฟันได้รับบาดเจ็บหรือมีเศษวัตถุถูดกัดแตกหักอุดกั้นทางเดินหายใจได้
10. ไม่ควรผูกมัดหรือต่อสู้กับคนไข้ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บ ควรปล่อยให้อาการชักนั้นหยุดไปได้เอง
11. ไม่ควรละทิ้งผู้ป่วยเพื่อไปตามผู้อื่น ควรอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ป่วยอุ่นใจเมื่อฟื้นขึ้นมา
12. ไม่ควรให้ผู้ป่วยกินระหว่างการชักหรือหลังชักใหม่ ๆ เพราะการกินอาจทำให้สำลักได้
13. เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวแล้ว ให้จับนั่งในท่าที่หายใจสะดวก และอยู่รอจนกว่าจะแน่ใจว่าคนไข้ฟื้นตัวดีแล้ว
14. หากผู้ป่วยหลับหลังชักควรปล่อยให้หลับต่อ ห้ามป้อนอาหารหรือยาจนกว่าจะฟื้นเป็นปกติ
15. หากผู้ป่วยชักนานกว่าปกติ หรือชักซ้ำขณะที่ยังไม่ฟื้นเป็นปกติ ควรนำตัวส่งโรงพยาบาล เพราะการชักบ่อย ๆ อาจทำให้การทำงานของสมองบกพร่องได้
อาการลมชัก หรือลมบ้าหมู อาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ หากปล่อยให้เป็นเนิ่นนานโดยไม่เข้ารับการรักษา แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบางรายก็สังเกตเห็นได้ยาก ดังนั้น คนใกล้ตัวคงต้องช่วยกันสังเกตด้วยอีกแรง หากเห็นคนรู้จักมีพฤติกรรมแปลก ๆ ชอบวูบ เหม่อลอย นิ่ง หรือชักเกร็งทั้งแบบรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ก็ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น